OIE PVS Pathway

 
pvs01
โดย คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ
 
OIE PVS Pathway คืออะไร? ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมระบบนี้หรือไม่?
OIE PVS Pathway คือ กรอบแนวคิดการพัฒนามาตรฐานคุณภาพระบบสัตวแพทย์บริการ (Veterinary Services) ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization of Animal Health, WOAH (OIE)) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังให้ประเทศสมาชิกพัฒนาระบบสัตวแพทย์บริการอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง เพื่อให้มีความสามารถและมาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อกำหนดระหว่างประเทศ
และมาตรฐานสัตวแพทย์นี้เองที่องค์การและประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับการทำงาน การวัดระดับ และเป็นส่วนหนึ่งของกฎกติการการค้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากสัตวแพทย์มีบทบาทโดยตรงเกี่ยวกับการผลิตเนื้อ นม ไข่ และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ ซึ่งหากประเทศใดมีระดับการให้บริการทางสัตวแพทย์ไม่ดี แนวโน้มในการผลิตอาหารที่ได้คุณภาพก็จะลดลง ส่งผลให้ไม่ได้รับความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าปศุสัตว์นั่นเอง
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก และสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ WOAH ออกไว้โดยปริยาย
ซึ่งใครเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของ WOAH นั้น จะอธิบายในบทความต่อไปครับ

pvs02OIE PVS Pathway มีการดำเนินการอย่างไร?
WOAH ได้กำหนดกลไกของ OIE PVS Pathway ซึ่งประกอบด้วยหลักการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้ประเมินตนเอง วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของระบบสัตวแพทย์บริการ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ ประกอบด้วย
- PVS Evaluation เป็นเครื่องมือที่ใช้การประเมินระบบสัตวแพทย์บริการ เพื่อประเมินคุณภาพระดับของความก้าวหน้าหรือความสามารถในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลของ WOAH เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของบริการสัตวแพทย์
- PVS Gap Analysis Costing Tool เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อประเมินเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อจัดลำดับความสำคัญและการลงทุนที่จำเป็น ในการพัฒนาระบบสัตวแพทย์บริการ
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบ PVS Pathway ยังมีการสนับสนุนให้มีการประเมินวิเคราะห์เชิงลึกในแต่ละสาขาที่เฉพาะเจาะจง เช่น กฎหมายด้านสัตวแพทย์ ห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์ การพัฒนาการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน และการศึกษาสัตวแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ แต่ละประเทศยังสามารถตรวจสอบความคืบหน้าในการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ WOAH โดยการแจ้งความประสงค์ให้มีการตรวจประเมินอีกครั้ง ภายในระยะเวลา 3-5 ปี (OIE PVS Follow-up) 
 
 
 
 
 
 

OIE PVS Tool คืออะไร?

OIE PVS Tool คือ คู่มือสำหรับใช้ในการประเมินขีดความสามารถและสมรรถนะของระบบสัตวแพทย์บริการทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานหลัก 4 ส่วน (fundamental components) ได้แก่
ส่วนที่ 1 ทรัพยากรบุคคล โครงสร้างทางกายภาพ และแหล่งเงิน (Human, physical and financial resources)
ส่วนที่ 2 อำนาจหน้าที่ และขีดความสามารถทางด้านวิชาการ (Technical authority and capability)
ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Interaction with stakeholders)
ส่วนที่ 4 การเปิดตลาดการค้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Access to markets)
โดยแต่ละส่วนจะมีหัวข้อประเมินย่อย (Critical Competency) ที่สอดคล้องกับหัวข้อนั้นๆ และมีการแบ่งระดับคะแนนการประเมินออกเป็น 5 ระดับคะแนน (คะแนน 1 - 5) ซึ่ง WOAH จะประเมินจากหลักฐานทางเอกสารที่ประเทศสมาชิกจัดเตรียมไว้ ควบคู่กับการประเมิน ณ สถานที่จริง ทั้งนี้ ภายหลังจากการประเมิน WOAH จะสรุปผลและเสนอข้อแนะนำเพื่อพัฒนาระบบสัตวแพทย์บริการของประเทศสมาชิกต่อไป
 
ผลการประเมิน OIE PVS Pathway สามารถไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร?
การนำผลของการตรวจประเมิน OIE PVS ไปใช้ประโยชน์ และผลที่ตามมาจากการประเมินระบบสัตวแพทย์บริการ (OIE PVS Evaluation) มีดังนี้
- บ่งชี้ถึงสมรรถนะขององค์ประกอบพื้นฐานแต่ละส่วนทั้ง 4 ส่วน (fundamental components) และสมรรถนะในแต่ละหัวข้อย่อย ซึ่งทำให้ทราบขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบในระบบสัตวแพทย์บริการ
- เปรียบเทียบสมรรถนะของการบริการทางสัตวแพทย์กับประเทศอื่นๆ เพื่อที่จะสำรวจแนวทางการพัฒนาระบบสัตวแพทย์บริการ โดยพัฒนาความร่วมมือ การเจรจา และการต่อรองทางการค้าและด้านวิชาการต่างๆ
- ยืนยันระดับมาตรฐานและผลการตรวจสอบสมรรถนะระบบสัตวแพทย์บริการของประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจาก WOAH
- ช่วยตรวจสอบหาช่องว่างและจุดอ่อนของงานด้านสัตวแพทย์บริการของประเทศสมาชิก
- ช่วยจัดลำดับความสำคัญเพื่อการพัฒนาระบบสัตวแพทย์บริการ และขอรับการสนับสนุนทางการเงินหากจะต้องขอสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาล หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
- มีข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำระบบตรวจสอบและติดตามระดับสมรรถนะในภาพรวมของระบบสัตวแพทย์บริการของประเทศ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
- ช่วยตรวจสอบความคุ้มทุนและต้นทุนต่อกิจกรรมต่างๆ ในการให้บริการทางสัตวแพทย์และสุขภาพสัตว์ และชี้วัดการปฏิบัติงานและการลงทุนที่จะปรับปรุงการจัดการระบบสัตวแพทย์บริการที่ดีตามมาตรฐานของ OIE
pvs03
WOAH เปรียบระบบการพัฒนาสัตวแพทย์บริการเหมือนกับการรักษา คือ มีการวินิจฉัย (Diagnosis) การวางแผนการรักษา (Prescription) การลงมือรักษา (Treatment) และการติดตามผล (Follow-up)
pvs04
กิจกรรม PVS Mission ของประเทศไทยที่ผ่านมา
 
ประเทศไทยได้ผ่านการดำเนินกิจกรรม PVS Evaluation เมื่อปี 2555 และ PVS Gap Analysis เมื่อปี 2557 โดยตัวอย่างผลการประเมินที่ชัดเจน คือ ณ ขณะนั้น ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอกับงานทางด้านสัตวแพทย์ จึงเป็นผลให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและเพิ่มจำนวนตำแหน่งบุคลากรสัตวแพทย์เพื่อให้เพียงพอกับงานและสอดคล้องกับประสิทธิภาพงาน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2565 กรมปศุสัตว์ได้เข้าร่วมกิจกรรม PVS/IHR National Bridging (Workshop) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พัฒนาระบบงานด้านสัตวแพทย์โดยเน้นเฉพาะระบบการประสานงานด้าน one health ระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์และคน โดยได้ความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพคนของประเทศไทย
 
การดำเนินงาน PVS Mission ของประเทศไทยในอนาคต
- ประเทศไทยมีแผนดำเนินกิจกรรม PVS Self Evaluation เพื่อประเมินระบบสัตวแพทย์บริการในปัจจุบัน โดยเป็นการประเมินตนเองในเบื้องต้นก่อนรับการประเมินจาก WOAH ในกิจกรรม PVS Follow-up ต่อไป ซึ่งปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้ OIE PVS Pathway เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินกิจกรรม PVS Self Evaluation นอกจากนี้ ภายใต้ OIE PVS Pathway ประเทศไทยยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่มีแผนดำเนินการในอนาคต ดังนี้
- PVS Laboratory Mission เป็นกิจกรรมประเมินระบบงานด้านห้องปฏิบัติการทั้งด้านสุขภาพสัตว์ (Animal Health) และความปลอดภัยอาหาร (Food safety)
- PVS Workforce Development เป็นกิจกรรมพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสัตวแพทย์ ทั้งสัตวแพทย์ (Veterinarian) และบุคลากรสนับสนุนงานด้านสัตวแพทย์ (Veterinary Paraprofessional)