คู่มือผู้บังคับบัญชาในการรักษาวินัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

คู่มือผู้บังคับบัญชาในการรักษาวินัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กรป.

การรักษาวินัยของข้าราชการอาจเปรียบได้กับการขับเคลื่อนขบวนรถไฟไปตามราง โดยเปรียบ “ผู้บังคับบัญชาเหมือนหัวรถจักร ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเหมือนรถตู้ รางเหมือนวินัย” การจะให้รถไฟวิ่งไปตามรางจนถึงจุดหมายปลายทางโดยราบรื่น รวดเร็ว ต้องขับเคลื่อนที่หัวรถจักรเพื่อลากจูงรถตู้ทั้งขบวนไปตามราง    โดยไม่ต้องขับรถตู้แต่ละคันฉันใด การที่จะให้ข้าราชการปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติ ไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามทางวินัยและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพบรรลุผลตามเป้าหมาย ก็ต้องขับเคลื่อนที่ผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาลากจูงผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไปยังเป้าหมายฉันนั้น

ตำแหน่งที่เป็นผู้บังคับบัญชา

ข้าราชการพลเรือนที่เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นไปตามที่กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนบัญญัติไว้ ซึ่งมีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศดังต่อไปนี้

1. ผู้อำนวยการกอง

2. ผู้รักษาราชการแทน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

3. ผู้รักษาการในตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

หน้าที่ของผู้บังคับบัญชา

ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการรักษาวินัย ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนี้

1. รักษาวินัยของตนเอง โดยกระทำการตามข้อปฏิบัติ และไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ (มาตรา 80)

2. ปฏิบัติตนต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรมและเที่ยงธรรม และเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาดำรงตนเป็นข้าราชการที่ดี (มาตรา 73)

3. เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย และป้องกันไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย (มาตรา 87)

4. กำกับดูแลให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำการตามข้อปฏิบัติและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามทางวินัย และดำเนินการทางวินัยต่อผู้กระทำผิด (หมวด 7)

รายละเอียดหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา

บทบาทที่ 1 รักษาวินัยของตนเอง ได้แก่ การปฏิบัติตามวินัยข้าราชการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งแบ่งเป็นวินัยต่อประเทศชาติ วินัยต่อประชาชน วินัยต่อผู้บังคับบัญชา วินัยต่อตนเอง วินัยต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และวินัยต่อเพื่อนร่วมงาน 

บทบาทที่ 2 ปฏิบัติตนต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรม เที่ยงธรรม และเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นข้าราชการที่ดี

1. ปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม หมายถึง

    - ความเมตตา: ปรารถนาให้มีความสุข ทั้งสุขกายและสุขใจ เช่น จัดที่ทำงานให้มีความสะดวกสบาย จัดอุปกรณ์การทำงานให้ดีและเพียงพอ ให้การยอมรับในผลสัมฤทธ์ของงานที่เขาทำ ให้เขามีความหวังในความก้าวหน้า เป็นต้น

    - ความกรุณา: ปรารถนาให้พ้นทุกข์ อนุเคราะห์เรื่อง ๆ ตามสมควร เช่น ช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย ให้ทำงานตามความถนัดและไม่เกินกำลังความสามารถ เป็นต้น

    - ความหวังดี: ปรารถนาให้เจริญรุ่งเรือง สนับสนุนทางก้าวหน้า เช่น ให้ความรู้ในการปฏิบัติงาน แนะนำให้ประพฤติดี ช่วยแก้ไขและลดปัญหาในการทำงาน เป็นต้น

    - ความยอมรับนับถือ: ให้เกียรติ ศักดิ์ศรี ความดีความชอบ เช่น ให้มีส่วนได้รับผลดีในผลสัมฤทธิ์ ของงาน ให้ความดีความชอบ แสดงความยินดีในผลดีที่เขาได้รับ เป็นต้น

    - การปกป้องคุ้มครอง: ให้ปลอดภัย ได้รับความเป็นธรรม เช่น จัดระบบการปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงภัยให้ปลอดภัย ต่อสู้ปกป้องคุ้มครองคนดีให้ได้รับผลดีโดยชอบธรรม เป็นต้น  

2. ปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรม หมายถึง

    - การแต่งตั้งต้องเหมาะสม เที่ยงธรรม ตามความรู้ความสามารถและสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง และเพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยไม่เลือกปฏิบัติ

    - การให้บำเหน็จความชอบ ต้องให้อย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาตามผลงานและความดีความชอบตามระบบคุณธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ

    - การเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ สมรรถนะ พฤติกรรม และประโยชน์ของทางราชการตามระบบคุณธรรม

    - การดำเนินการทางวินัย ต้องยุติธรรม ปราศจากอคติ

3. เสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นข้าราชการที่ดี หมายถึง

    - แรงจูงใจภายใน ได้แก่ การให้ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข

    - แรงจูงใจภายนอก ได้แก่ จัดตั้งกลุ่มสนใจขึ้น กำกับกวดขันให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือออกกฎระเบียบขึ้นใช้เฉพาะส่วนราชการ สร้างกฎเกณฑ์ในการเป็นข้าราชการที่ดี หรือข้อตกลงในการเป็นข้าราชการที่ดี สร้างค่านิยมในทางที่ดี หรือตั้งปณิธานว่าจะทำดี รวมถึงการเพิ่มประสบการณ์ การฝึกอบรม รวมทั้งการกำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผล

บทบาทที่ 3 เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยและป้องกันไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย

1. เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย หมายถึง

1.1 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด โดยดำเนินการ ดังนี้

- ให้ผู้บังคับบัญชากำหนดเรื่องการเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยและป้องกันไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยไว้ในยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาข้าราชการ

- กำหนดเป้าหมาย กำกับดูแล และติดตาม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงบูรณาการ

- จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้แทนข้าราชการ ในการกำหนดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

- กำหนดบทบาทและหน้าที่ผู้บังคับบัญชาให้มีการบริหารงานและเป็นผู้นำต้นแบบที่ดี

1.2 ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับเสริมสร้างพัฒนาและป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยด้วยวิธีการที่เหมาะสมและติดตามอย่างต่อเนื่อง

1.3 ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้แก่

- ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาวินัย เพื่อให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตาม

- ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการฝึกอบรมผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้มีวินัย

- การสร้างขวัญและกำลังใจ การสร้างความศรัทธาในงาน ในบรรยากาศ และในผู้บังคับบัญชา

- การจูงใจให้ประพฤติดีมีวินัย ผู้บังคับบัญชาทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทำตนต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรมและสร้างแรงจูงใจ

- การเสริมสร้างและพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรม

2. การป้องกันไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย หมายถึง

2.1 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการเสริมสร้างและพัฒนาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้มีวินัย

2.2 ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ได้แก่

- การเอาใจใส่และสังเกตการณ์ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาว่า มีพฤติกรรม มีเหตุชักนำ มีช่องทาง หรือแนวโน้มที่จะกระทำผิดวินัยหรือไม่

- การขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย เช่น ความไม่รู้ การเสียขวัญ การเสียกำลังใจ ความจำเป็น กิเลส และอบายมุข

บทบาทที่ 4 ดำเนินการทางวินัยต่อผู้กระทำผิดวินัย

หน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการทางวินัย มีดังนี้

1. เมื่อมีการกล่าวหาหรือกรณีสงสัยว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาผู้ใดกระทำผิดวินัย ต้องรายงานให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยทราบโดยเร็ว

2. เมื่อได้รับรายงานต้องรีบดำเนินการหรือสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าไม่มีมูลก็ยุติเรื่องได้ แต่หากมีมูลโดยมีพยานหลักฐานเบื้องต้นอยู่แล้วก็ให้ดำเนินการทางวินัยต่อผู้ถูกกล่าวหาต่อไป

 

สามารถดูรายละเอียดฉบับเต็มเกี่ยวกับ “คู่มือผู้บังคับบัญชาในการรักษาวินัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา” ได้ที่

https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/ocsc-book-2557-_discipline-boss-to-lower-staff-rev01.pdf